ก้าวเดินของห้องสมุด ในยุค “สังคมก้มหน้า″
“สังคมก้มหน้า” ในโลกออนไลน์เป็นศัพท์ที่คุ้นหูกับทุกคนเป็นอย่างดี และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีทั้งผลดีและผลเสียกับพฤติกรรมในสังคมโดยอัตโนมัติเช่นเดียวกัน กล่าวคือ พฤติกรรมของคนในสังคมที่มีความหมกมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เทคโนโลยีเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์ให้กับเราได้ดี เช่น ใช้ทำงาน สืบค้นข้อมูล โทรศัพท์ กล้องถ่ายรูป เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่ส่งได้ทั้งภาพและเสียงแบบปัจจุบันทันที ประเภทของผู้ที่ใช้งานมีทุกเพศทุกวัย แต่ส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นและหนุ่มสาวที่มีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ต่าง ๆ ดังกล่าวเสมือนเกิดมาเพื่อสิ่งนี้
เมื่อคนกลุ่มนี้มาใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ในห้องสมุดซึ่งเป็นแบบเดียวกันหรือแนวเดียวกัน ก็จะสามารถเข้าใจและใช้งานอุปกรณ์นั้นได้อย่างรวดเร็ว ห้องสมุดในยุค “สังคมก้มหน้า” จึงจำเป็นต้องปรับการบริการให้ทันยุคสมัย กล่าวคือ ต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงอุปกรณ์การสื่อสารประเภทสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ซึ่งคนที่อยู่ในวัยศึกษาและวัยเรียนส่วนใหญ่นิยมใช้กัน อย่างเช่น การจัดทำแอพของห้องสมุด การปรับหน้าจอผลการสืบค้นให้เหมาะสมในการใช้งานกับอุปกรณ์ดังกล่าว
อย่างไรก็ตามอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านี้เมื่อใช้ต่อเนื่องกันนานๆ จะส่งผลกระทบทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทำให้ผู้ใช้มีพฤติกรรมที่แข็งกระด้าง ไม่ใส่ใจผู้คนหรือสิ่งรอบข้าง ใจร้อน ไม่มีความอดทนอดกลั้น คาดหวังผลที่ต้องการอย่างรวดเร็ว อารมณ์หงุดหงิดง่ายเมื่อไม่ได้ดังใจ จะขาดสติ ขาดความรู้ตัว ด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวมานี้อาจส่งผลให้มีความไม่พึงพอใจในการใช้บริการโดยตัวบุคคลผู้ให้บริการมากขึ้นได้ ดังนั้นห้องสมุดนอกจากจะพัฒนาบุคลากรให้เรียนรู้ในวิชาชีพบรรณารักษ์แล้ว ยังจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการบริการของห้องสมุด นัยหนึ่งเป็นการพัฒนาห้องสมุด แต่อีกนัยหนึ่งก็เพื่อลดแรงปะทะระหว่างผู้ใช้กับผู้ให้บริการที่อาจเกิดขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ใช้อาจไม่เห็นความสำคัญของห้องสมุดอีกต่อไป
ห้องสมุดในปัจจุบันแต่ละสถาบันจึงหาข้อดีของยุค “สังคมก้มหน้า” นี้ มาประยุกต์และนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อวงการห้องสมุด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น