สังคมก้มหน้ากำลังระบาดไปทั่วโลกเลยว่าไหมคะสังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าคนสมัยนี้ไม่ว่าจะขึ้นรถนั่งกินอาหาร เดินตามท้องถนน หรือแม้แต่คุยกับเพื่อนที่นั่งอยู่ข้างกันแท้ๆ ก็ยังคุยผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยม และกิจกรรมยอดฮิตของเด็กๆ วัยเรียน วัยรุ่นชาวออนไลน์ก็คือ การถ่ายรูปสารพัดสิ่งอัพลงเฟซ หรืออินสตาแกรม แล้วรอให้คนมากดไลค์นั่นเอง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ ทำให้หลายๆ คน มีปัญหาสุขภาพจิตตามมาอย่างคาดไม่ถึงเหมือนกัน
ผลการศึกษาผลกระทบของอินเตอร์เน็ตต่อสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนไทย ชี้ชัดว่าเด็กและเยาวชนใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อการบันเทิงมากที่สุด ขณะที่ผลกระทบด้านสังคม ไม่ค่อยรู้เรื่องภายนอก ไม่คุยกับคนรอบข้าง ซึมเศร้าอยู่แต่ในโลกความฝันของตัวเอง จากกรณีศึกษากรุงเทพมหานคร ร่วมกับสำนักทดสอบทางการศึกษาและจิตวิทยา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยศึกษาพฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตของเด็ก และเยาวชนทั้งด้านการศึกษา ด้านบันเทิง ด้านลบ และด้านธุระ/ซื้อขาย รวมถึงความสัมพันธ์ของผล ต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต กับกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 1,584 คน ทำให้ทราบว่า
ผลจากการใช้อินเตอร์เน็ตมีผลต่อ
สุขภาพจิตในทางบวก
ของเด็กและเยาวชนมากที่สุด ได้แก่ ทำให้มีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้น เข้าใจและพอใจกับชีวิตของตนเอง มีความสุขกับสิ่งที่ทำแต่ละวัน สามารถจัดการปัญหาต่างๆ ให้สำเร็จ มีความมุ่งมั่นในการทำภารกิจต่างๆ รู้สึกสนุก เพลิดเพลินใจ
สุขภาพกายในทางลบ
ได้แก่ ทำให้อ่อนล้าสายตา สายตาสั้นลง ตาลาย เมื่อยแขน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ ปวดก้นกบ หลัง ไหล่ กล้ามเนื้อมือและนิ้ว ร่างกายเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ลืมเวลากินอาหารจนปวดท้อง เพลิน จนไม่ได้เข้าห้องน้ำ ทำให้มีผล ต่อระบบขับถ่าย
สุขภาพจิตในทางลบ
ได้แก่ ทำให้รู้สึกเศร้าโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่สามารถควบคุมสภาพจิตใจตนเองได้ หงุดหงิดกังวลใจกับเรื่องเล็กน้อย ทำงานต่างๆ ที่ได้รับมอบหมายเสร็จไม่ทัน ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างลดลง เบื่อหน่ายท้อแท้ กับการดำเนินชีวิต รวมไปถึงพฤติกรรม ที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันอยู่ในขณะนี้คือ เซลฟี่ ขี้อิจฉา ซึมเศร้า
เซลฟี ขี้อิจฉา ซึมเศร้าเซลฟี สามารถกัดกร่อนความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองได้ หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมในสังคมออนไลน์ แต่หากมากไปและคาดหวังจดจ่อว่าจะมีใครเข้าดู เข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงว่าเซลฟีกำลังสร้างปัญหาและเป็นสัญญาณหนึ่งบอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง
เรื่องนี้ พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ข้อมูลว่า “ในยุคที่คนนิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น ได้ทำให้คนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษามีพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘เซลฟี่’ (Selfie) กันมาก โดยเป็นพฤติกรรมที่ชอบถ่ายรูปตัวเองในอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่าจะไปที่ไหน ทำอะไร กินอะไร แล้วนำไปแชร์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์เพื่อรอให้เพื่อนๆ มากดไลค์ หรือเขียนข้อความแสดงความเห็นต่างๆ”
สิ่งนี้กลายเป็นพฤติกรรมเคยชินของ หลายคนไปแล้ว ซึ่งถ้าดูเผินๆ ก็อาจคิดว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไร แต่จิตแพทย์กลับมองว่า พฤติกรรมเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตในอนาคตได้ โดยเฉพาะเรื่องความเชื่อมั่นหรือความมั่นใจในตนเอง ซึ่งจะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และส่งผลต่ออนาคต การงาน และการพัฒนาประเทศอย่างคาดไม่ถึง
“เซลฟีจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล การลงรูปเพราะอยากได้การตอบรับจากสังคม และการได้ยอดกดไลค์ถือว่าเป็นรางวัล ซึ่งเป็นหลักปกติของมนุษย์ทั่วไป ถ้าอะไรที่ทำแล้วได้รางวัลก็จะทำซ้ำ แต่ว่ารางวัลของแต่ละบุคคลมีผลกระทบต่อความรู้สึกไม่เท่ากัน บางคนลงรูปไปแล้วได้แค่ 2 ไลค์เขาก็มีความสุขแล้ว เพราะถือว่าพอแล้ว แต่บางคนต้องให้มียอดคนกดไลค์มากๆ พอมากแล้วก็ยิ่งติด เพราะถือว่าเป็นรางวัล แต่หากได้รับการตอบรับน้อย ไม่เป็นอย่างที่คาดหวังไว้ และทำใหม่แล้วก็ยังไม่ได้รับการตอบรับจะส่งผลต่อความคิดของตัวเอง บุคคลนั้นสูญเสียความมั่นใจ และส่งผลต่อทัศนคติด้านลบของตัวเองได้ เช่น ไม่ชอบตัวเอง ไม่พอใจรูปลักษณ์ตัวเอง แต่หากบุคคลนั้น สามารถรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้เป็นปกติได้ เซลฟีก็ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต’
พญ.พรรณพิมล กล่าวอีกว่า “นักจิตวิทยาสหรัฐอเมริกาได้ให้ข้อคิดว่า เซลฟี สามารถกัดกร่อนความมั่นใจ ความภาคภูมิใจในตัวเองได้ หากถ่ายรูปตัวเองเผยแพร่บนโลกออนไลน์เป็นบางโอกาส ถือเป็นการมีส่วนร่วมใน สังคมออนไลน์ แต่หากมากไปและคาดหวัง จดจ่อว่าจะมีใครเข้าดู เข้ามาแสดง ความคิดเห็น แสดงว่าเซลฟีกำลัง สร้างปัญหา และเป็นสัญญาณหนึ่งบอกถึงการขาดความมั่นใจในตัวเอง ล่าสุด สาธารณสุขประเทศอังกฤษ ได้ออกมาประกาศว่า อาการเสพติด โซเชียลมีเดียถือเป็นโรคอย่างหนึ่ง ในแต่ละปีมีชาวอังกฤษเข้ารับการบำบัดมากกว่า 100 ราย
ความมั่นใจในตัวเองเป็นที่จำเป็นสำหรับทุกคน เพราะจะทำให้คนพอใจในตนเอง มีความสุข มีสมาธิ ไม่กังวล ไม่โหยหาความรัก และความสนใจจากคนอื่นๆ กล้าทำในสิ่งใหม่ที่เหมาะสม มีความเป็นผู้นำ กล้าเผชิญความจริง มีบุคลิกภาพดี เป็นมิตรกับคนทุกคน หากขาดความมั่นใจในตนเองแล้วจะเกิดความกังวล ลังเล ชีวิตไม่มีความสุข เมื่อมีความคิดสะสมไปเรื่อยๆ อาจมีความผิดปกติทางจิตใจอารมณ์ได้ง่าย เช่น หวาดกลัว หวาดระแวง เครียด อิจฉา ชอบจับผิดคนอื่น ซึมเศร้า อาจทำพฤติกรรมแปลกๆ มีลักษณะตรงข้ามกับความมั่นใจตัวเอง เช่น การแต่งกาย การใช้คำพูด หรือประชดชีวิตตนเอง เช่น ดื่มสุรา ใช้ยาเสพติด เป็นต้น
หากเยาวชนไทยขาดความมั่นใจจะทำให้ไม่กล้าลงมือทำสิ่งใหม่ในชีวิต มักทำตาม คนอื่น เป็นผู้ลอกเลียนแบบ หรือทำซ้ำๆ ในสิ่งที่ทำมาแล้ว พัฒนาตนเองยาก มีผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ทำให้จำนวนผู้นำน้อยลง ครอบครัวขาดเสาหลักที่มั่นคง โอกาสการสร้าง หรือพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ เป็นไปได้ยากขึ้น หากเป็นผู้ทำงานแล้ว โอกาสความก้าวหน้าจะช้ากว่าคนอื่น
วิธีป้องกันการเสพติดเซลฟี และสร้างความมั่นใจตัวเองบนโลกความเป็นจริงคือ ต้องให้ความสำคัญต่อคนรอบข้างที่เป็นสิ่งแวดล้อมจริงในชีวิตประจำวัน หากิจกรรมยามว่างทำกับคนในครอบครัว เพื่อนๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนัง ฟังเพลง เที่ยวพักผ่อน และข้อสำคัญให้ยอมรับในความแตกต่างของคนที่ไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน และที่สำคัญต้องฝึกความอดทนให้แก่ตัวเอง เพราะการถ่ายเซลฟีไม่สามารถที่จะทำได้ตลอดเวลา ครั้งไหนที่ทำไม่ได้ ต้องยอมฝืนใจที่จะไม่ทำ หากผ่านจุดนั้นไปได้ ครั้งต่อๆ ไปก็จะสามารถควบคุมพฤติกรรมการถ่ายเซลฟีได้เช่นกัน”
การหลอกลวงทางโปรแกรมแชทนพ.สุริยเดว ทรีปาตี
ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
ประเด็นสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้จากพ่อแม่และคนรอบข้าง คือ คนเหล่านั้นจะต้องสร้างทักษะในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม กติกา การระมัดระวัง ความรู้เท่าทันสื่อไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อซะเอง เช่นการไม่ไปประจาน ไม่นำภาพของตัวเองที่ผิดจารีต ประเพณี วัฒนธรรม หรือผิดกฎหมาย ใส่เข้าไปแล้วเกิดการเผยแพร่
โปรแกรมแชทกับคนแปลกหน้าอาจชักนำให้เกิดการกระทำความผิดหรือกลายเป็นเหยื่อได้ นำไปสู่การคุกคาม การล่อลวง การฉ้อโกง การละเมิดทางเพศ ผู้ใช้งานสื่อเทคโนโลีสารสนเทศโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจึงควรได้รับการดูแลและระมัดระวังในการเข้าถึงสื่อเหล่านี้
ประเด็นนี้ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำกับพ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการดูแล ควบคุม การใช้อินเตอร์เน็ตของบุตรหลานว่า
“ประเด็นสำคัญที่เด็กต้องเรียนรู้จากพ่อแม่และคนรอบข้าง คือ คนเหล่านั้นจะต้องสร้างทักษะในการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม กติกา การระมัดระวัง ความรู้เท่าทันสื่อ ไม่ตกเป็นเหยื่อของสื่อซะเอง เช่น การไม่ไปประจาน ไม่นำภาพของตัวเองที่ผิดจารีต ประเพณี วัฒนธรรมหรือผิดกฎหมาย ใส่เข้าไปแล้วเกิดการเผยแพร่
สิ่งเหล่านี้ครอบครัว โรงเรียน ต้องพุดคุย แล้วทำให้เกิดทักษะ รวมทั้งต้องรู้ข้อกฎหมายด้วยว่าถ้าเกิดกรณีแบบนี้ขึ้น อาจจะมีโทษตามกฎหมาย เช่น ไปละเมิดสิทธิคนอื่นเขา อันนี้วัยรุ่นไม่ค่อยรู้ ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่รู้กฎหมาย ไม่ตระหนัก และเมื่อทำไปแล้วมันมีบูมเบอแรงกลับมาทำร้ายตัวเองได้ด้วย
ข้อที่สอง คือ ต้องระมัดระวังและมีทักษะการอยู่ร่วมกับสังคมโซเชียล ถ้าไม่มี เด็กรู้เท่าไม่ถึงกาณ์ สุดท้ายโดนบันทึก ล่อลวง ประเด็นที่สาม กระทรวงวัฒนธรรมหรือหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับสื่อทั้งหลาย น่าจะถึงเวลาที่โลกเสมือน หรือโซเชียลโกบอล คือ ชุมชนกลางอากาศต้องมี Change Agency หรือ Webmaster ที่เป็นเหมือนดีเจคอยดูแลระบบ ช่วยเหลือ คุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งไม่ได้เพียงกำจัดสิ่งชั่วร้าย หรือบล็อกสิ่งที่ไม่เข้าท่าเข้าทาง แต่จะต้องมีทักษะชนิดอื่น คือ ให้คำปรึกษา มีการวางกติกาขึ้นมา ไม่งั้นสังคมไม่เกิดการเรียนรู้
สุดท้ายผู้ใหญ่ควรดูแลแนะนำเรื่องเนื้อหาที่เหมาะสมบนโลกอินเตอร์เน็ตให้กับลูกๆ ให้รู้เนื้อหาไหนดีไม่ดี ควรและไม่ควรทำและต้องเรียนรู้ปรับเข้าหากิจกรรมทางสังคมออนไลน์กับลูกๆ เพื่อเรียนรู้พฤติกรรมและชี้นำคอยตักเตือนลูกๆ ด้วยไม่ให้ลูกหลงผิดจากโลกออนไลน์ ส่วนเด็กๆ วัยรุ่น ก็ควรแบ่งเวลาในการใช้อินเตอร์เน็ต สลับกับพบกับเพื่อนบนโลกแห่งความเป็นจริง รวมทั้งแบ่งเวลาให้กับการอ่านหนังสือการทบทวนเนื้อหาตำราด้วย ทั้งในหนังสือและเนื้อหาบนโลกอินเตอร์เน็ต วิธีนี้จะช่วยให้ผลการศึกษาที่ดีต่อลูกได้ด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักข่าวไทย / ผู้จัดการออนไลน์ / ฝ่ายสื่อสารองค์กรและเทคโนโลยี สถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต
Text Hippie Aloha
…………………………………….